วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

เมื่อ Llewellyn ต้องการทำไพ่ RWS ในแบบของตัวเอง

ผมได้ไพ่ชุดนี้มาเมื่อสองสามวันก่อน และได้มีโอกาสหยิบมาใช้งานสองสามครั้ง (จะสองสามอีกนานไหม อิอิ) เพื่อตอบคำถามสองสามข้อ ^^

เอาจริงๆแหละ ... ผมลองหยิบมาตอบคำถามที่เกิดขึ้นนะช่วงนั้นพอดี เหตุผลหนึ่งเลยก็เพื่อจะได้เห็นภาพรวมๆ ของไพ่ชุดนี้เวลาใช้งาน จะได้เอามาเล่าให้ฟังกันได้

ไพ่ทาโรต์ชุดนี้ชื่อว่า Llewellyn's Classic Tarot สร้างโดย Barbara Moore และวาดภาพโดย Eugune Smith โดยสำนักพิมพ์ Llewellyn ที่ตรงกับชื่อไพ่เลย .. เป็นชื่อสำนักพิมพ์ที่สะกดผิดประจำ อิอิ

สาเหตุที่สร้างไพ่ทาโรต์ชุดนี้ขึ้นมา เนื่องจากทางสำนักพิมพ์ และคุณ Barbara Moore ต้องการที่จะทำไพ่ทาโรต์ RWS (Rider-Waite-Smith) ขึ้นมาใหม่ สำหรับศตวรรษนี้ เพื่อความทันสมัย โดยการเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอ แต่ยังคงสัญลักษณ์สำคัญต่างๆ ไว้ จุดประสงค์ก็เพื่อให้นักอ่านไพ่สามารถสื่อสารกับไพ่ได้ง่ายขึ้น จากภาพและสีสรรนี้เอง

เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าไพ่ทาโรต์ Llewellyn's Classic Tarot นี้ หน้าตาเป็นยังไง เวลาไปหาซื้อจะได้หยิบมาถูกกล่อง ^^

สองภาพบนเป็นรูปหน้ากล่องและหลังกล่อง ตอนมาถึงบุบนิดหน่อย เพราะกระดาษกล่องไพ่ไม่ได้หนาอะไร ใครซื้อไพ่กล่องใหญ่ๆ น่าจะพอทราบ แต่สีกล่องสดใสมาก เห็นแล้วชอบเลยครับ ^^

ภาพหน้ากล่องเป็นรูปที่มาจากไพ่หลายใบ ใครพอจะเดาได้มั้งครับ ว่ามาจากไพ่ใบไหนบ้าง .. ถูกต้องคร้าบบบ เก่งมากเลย อิอิ ..

ลองมาไล่กันดูนะครับ จากซ้ายไปขวา เริ่มแรกเลย The Fool ต่อมาก็ Strength ถัดมาก็ 5 เหรียญ พอมองออกไหมครับ ติดกันก็ Temperance สุดท้ายก็ High Priestess ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ

ส่วนมือที่ชูออกมาด้านบนซ้ายขวา ก็ 1 ไม้ กับ 1 ดาบ ตามลำดับ

สำหรับด้านหลังกล่อง ก็จะพูดถึงไพ่ชุดนี้ พร้อมกับรูปไพ่ ซึ่งคงไม่ต้องบอกแล้วล่ะครับ มีชื่อบอกอยู่ทุกใบ

สำหรับภาพด้านล่าง เป็นสิ่งที่อยู่ในกล่องเมื่อเปิดออกมา ประกอบด้วยหนังสือคู่มือ และไพ่ห่อพลาสติก พร้อมกับกล่องสีขาวขนาดใหญ่กว่าไพ่มากกกก ที่ไม่รู้จะทำมาทำไม แทนที่จะทำให้พอดีใส่ไพ่ได้ เคยบ่นไปแล้วรอบหนึ่ง ขออีกรอบแล้วกันครับ อิอิ


หนังสือคู่มือ

มาดูหนังสือคู่มือกันก่อนดีกว่าครับ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเอาความรู้สึกของผมเลย ก็ผิดหวังเล็กน้อย ปกติจะชอบหนังสือคู่มือที่เขียนโดยคุณ Barbara Moore มาก เพราะเธอจะเขียนอธิบายไพ่ และสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไว้เสมอ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าไพ่ชุดนี้ต้องการให้เป็น RWS แต่ทันสมัยขึ้น และหลายๆคนที่ศึกษาไพ่ทาโรต์ ก็คุ้นเคยกับไพ่ชุด RWS อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก .. คิดดีไว้ก่อนนะ อิอิ

สำหรับหนังสือคู่มือ แค่สีปกก็สวยแล้ว ผมว่าไพ่ชุดนี้เลือกโทนสีได้สวยดีครับ

หน้าปกมีรูปจากไพ่ต่างๆ อีกแล้ว มาลองทายกันสนุกๆ ครับ

...
...
...

เฉลยละครับ จากซ้ายไปขวาเหมือนเดิม ใบแรก Chariot ต่อมา Wheel of Fortune ปิดท้ายด้วย 2 เหรียญ

ส่วนด้านบนก็ 1 เหรียญ และ 1 ถ้วย ไม่ยากใช่ไหมครับ สำหรับปกหลัง คราวนี้ไม่มีชื่อไพ่แล้วนะครับ ดูออกไหม จากบนลงล่างก็ 2 ถ้วย , ราชาเหรียญ และ Hermit ที่ดูห้าวหาญมาก

ในหนังสือคู่มือจะบอกสาเหตุของการทำไพ่ชุดนี้ขึ้นมา ก็อย่างที่ได้บอกไปแล้ว พร้อมด้วยประวัติศาสตร์ไพ่ทาโรต์อีกนิดหน่อย และก็ต่อด้วยความหมายไพ่ชุดหลัก และชุดรอง จากรูปที่เปิดให้ดู ด้านหนึ่งเป็นรูปไพ่ อีกด้านหนึ่งจะเป็นความหมายไพ่ สั้นๆ ไม่ได้ยาวมาก .. แต่ทีน่าสนใจคือ การพูดถึงสัญลักษณ์ที่อยู่ในไพ่ และจุดเด่นของคุณ Barbara Moore คือเขียนด้วยภาษาที่อ่านและเข้าใจง่าย  .. เพราะฉะนั้นใครมีคู่มือไพ่ที่เขียนโดยคุณ Barbara Moore ยังไม่เคยหยิบมาอ่าน รีบไปค้นมาอ่านเลยครับ


ไพ่ทาโรต์ Llewellyn's Classic Tarot 


คราวนี้มาถึงตัวไพ่กันบ้างนะครับ เมื่อแกะห่อพลาสติกออกแล้ว ก็ถึงคราวลำบากของคุณแหละ ที่ต้องไปหาถุง หรือกล่องมาใส่ อิอิ ..

ไพ่มีทั้งหมด 78 ใบ ไม่มีไพ่แถม เมื่อดูไพ่ทีละใบจนหมด ความรู้สึกของผมตอนนั้นคือ ไพ่สดใสมาก สีของไพ่แต่ละใบ ให้ความรู้สึก สนุก ร่าเริง แน่นอนไพ่ที่ให้ความหมายด้านลบ อาจจะไม่ได้รู้สึกขนาดนั้น แต่ขอบอกว่าคุณจะไม่หดหู่ หรือทำให้เสียขวัญแน่นอน พูดง่ายๆ คือ ไพ่สื่อความหมาย ที่นุ่มนวล และทุกอย่างมีทางแก้เสมอ ขอแค่อย่าหมดหวัง

ลองดูรูปด้านบนนะครับ เป็นหน้าไพ่ The Fool และหลังไพ่ ที่มีดอกลิลลี่ สลับกับดอกกุหลาบ สวยดีครับ สังเกตไหม ว่าไพ่ชุดนี้ไม่มีขอบ ยกเว้นด้านล่างที่เขียนชุดไพ่ไว้ ใครที่ชอบไพ่ไร้ขอบ พลาดไม่ได้เลย

ผมว่าสุนัขของไพ่ The Fool ตัวนี้ฉลาดนะครับ คอยเรียกอยู่ด้านหลัง ถ้าเป็นไพ่ RWS ลองสังเกตดู คงจะตกหน้าผาไปพร้อมกันแน่ อิอิ



โครงสร้างไพ่ตามไพ่ RWS เพราะตั้งใจทำมาแบบนั้นอยู่แล้ว ลองมาดูตัวอย่างไพ่กันดีกว่า ว่าที่ผมบอกไปไม่ได้โม้

ไพ่ชุดนี้ให้สีที่ชัดเจนมาก สังเกตจากตัวอย่างไพ่ โดยเฉพาะกลางวัน กลางคืน ภาพให้ความรู้สึกโล่ง โปร่ง ผมรู้สึกแบบนั้นตอนดูไพ่จริงๆ คิดว่าแบบนี้สัญลักษณ์จะไม่ลดหายไปหรือ พยายามเล็งจนปวดตา กลายเป็นว่า สัญลักษณ์สำคัญต่างๆ ไม่ได้ขาดหายไปเลย แต่อาจจะมีเปลี่ยนแปลงบ้าง และบางจุดก็เสนอในแง่มุมใหม่ๆ ทำให้อ่านไพ่ได้ง่าย สนุก ขึ้นทีเดียว จริงๆ นะ ^^


ลองดูภาพทางขวานะครับ ผมลองเลือกไพ่ความหมายลบ มาให้ดู เพื่อดูบรรยากาศและอารมณ์ของไพ่ ในที่นี่ผมชอบไพ่ 10 ไม้ กับ 5 เหรียญมาก

มันไม่ได้ให้ความรู้สึกที่หนักหนาสาหัส เมื่อเทียบกับแบบเดิมที่แบกไม้จนหลังงอ 10 ไม้ใบนี่ยังเดินหลังตรงได้ แต่งานก็ยังเยอะอยู่ดี .. ส่วน 5 เหรียญ ให้ความหวังมากกว่าแบบเดิมเยอะที่เดียว 

ก็คงต้องแล้วแต่ความชอบของแต่ละคนครับ

ข้อสังเกตอีกอย่างที่พบในไพ่ชุดนี้คือ ภาพบุคคลต่างๆ ในไพ่แต่ละใบ ส่วนใหญ่จะหันหาตรงมาทางผู้อ่านหรือดูไพ่ มีน้อยมากที่จะหันข้างให้ เหมือนต้องการให้เราเผชิญกับเหตุการณ์นั้นๆ ตรงๆ .. ก็ได้อารมณ์อีกแบบดีครับ

ขนาดไพ่ไม่ต่างจากขนาดของไพ่ทั่วไปครับ สับง่ายและคลี่ไพ่ได้สบาย ข้อนี้ไม่ต้องห่วง





สุดท้ายลองเปิดถามไพ่ดูว่า จะสามารถใช้ไพ่ชุดนี้ได้อย่างไร ใช้แล้วเป็นไงมั้ง หรือไพ่มีอะไรจะแนะนำไหม หลายคำถามไปไหมเนี่ย


ผมสะดุดกับไพ่ใบกลางก่อนเลยครับ ดำมืดมาเชียว สองข้างเขาสว่างกันแท้ๆ คงจะเป็นคำแนะนำที่ไพ่บอก อย่าให้คิดมากมายนัก ปล่อยความรู้สึกออกมา ให้เหมือนไม้ที่พุ่งเข้ามาหา รู้สึกปลอดโปร่งเหมือนบินอยู่ในอากาศ ให้ใช้ความรู้สึกภายใน หรือสิ่งที่จิตใต้สำนึกบอกมา .. นั่นแหละจะดีเอง ^^

ผมก็ภาวนาขอให้ใช้ไพ่ชุดนี้ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกับบทความบทนี้ที่เขียนได้อย่างรวดเร็ว รวดเดียวจบ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น