วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเรียน การงาน กับ The Bright Idea Deck

ทักทาย

สวัสดีครับ .. ผู้อ่านทุกท่าน (ทั้งที่ตั้งใจมา หรือหลงมาเข้ามา ก็ดี แต่ก็ถือว่าเรามีวาสนาต่อกัน ^^)
บทความนี้เป็นรีวิวแรกของผม เกี่ยวกับไพ่ทาโรต์ ขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ก่อนนะครับ ผิดพลาดอย่างไรก็ให้อภัยกันนะครับ

ขอเล่าความเป็นมาส่วนตัวกับไพ่ทาโรต์ สักเล็กน้อย ก่อนจะไปพูดถึงไพ่ชุด The Bright Idea Deck ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับมาที่มาเปิดบล็อครีวิวไพ่ทาโรต์  :)



ไพ่ใบที่ 10 จาก Celtic Cross
กับการดูไพ่ครั้งแรก
ผมเห็นไพ่ทาโร่ต์ครั้งแรกตอน ปวช มีพี่ในหอพัก (สมัยนี้คงไม่มีแล้วมั้งครับ) คนหนึ่งเอามาทายเล่นกัน เป็นไพ่ที่แถมมากับหนังสือของ อ.ขุนทอง ตอนนั้นผมจำได้ใบเดียว คือใบที่ 10 วางแบบเซลติก ครอส ได้ The Sun :) ทราบว่าเป็นไพ่ดี ก็ดีใจแล้วครับ

ตอนนั้นทายไม่ค่อยเป็นกันหรอกครับ เปิดหนังสือทาย เอาสนุกกันมากกว่า และก็ดูแต่ใบสรุปกัน
จากนั้นอีกหลายปี ก็ได้มีโอกาสซื้อหนังสือของ อ.ขุนทอง ว่าจะเอามาฝึกทายบ้าง แต่ความพยายามไม่มากพอ ดูไม่เข้าใจ เลยไม่ได้สนใจ เก็บเข้าตู้ ตอนนี้ก็หาไม่เจอแล้ว ว่าเก็บไว้ไหน แต่ก็ถือว่าเป็นไพ่ชุดแรกที่มี











กับการศึกษาไพ่ทาโรต์ครั้งแรก
เมื่อ 3-4 มีนาคม 2555
เมื่อ มีนาคม ปี 2555 ได้มีโอกาสไปลงเรียนไพ่ทาโรต์ กับ อ.หุย เป็นการกลับมาเจอกับไพ่ทาโรต์อีกครั้งในรอบหลายปีทีเดียว

ทีแรกก็ไม่ได้สนใจจะเรียน เพราะส่วนตัวไม่ชอบการทำนาย จะว่าอคติก็ได้ เราอาจจะชอบใจ ถ้าเขาดูตรง แต่แล้วยังไงล่ะ อีกอย่างผมก็ไม่เคยอยากจะไปดูให้ใคร ทำนองว่าเรียนแล้วต้องไปเป็นหมอดูว่างั้น

ก่อนจะลงเรียน จึงได้โทรไปคุยกับ อ.หุย ถามถึงสิ่งที่คาใจ เรียนแล้วต้องไปเป็นหมอดูไหม ใช้ดูตัวเองได้หรือเปล่า เรียนแล้วมีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง การหยิบไพ่มันทายได้จริงหรือ แต่คำตอนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ ที่จะศึกษาไพ่ทาโรต์ คือการนำมาช่วยในการให้คำแนะนำ แนวทาง แก้ไขปัญหา ในชีวิต ไม่ใช่อะไรที่งมงาย แต่เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ที่จะเป็นข้อมูลเพิ่มเติม กับข้อมูลที่เรามีอยู่ ถ้าเรารู้จักเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์



ยังครับ .. ยัง ขอกล่าวถึงที่มาของบล็อคนี้อีกนิด แล้วจะรีบเข้าเรื่องไพ่ The Bright Idea Deck ^^

เมื่อไพ่มันบังตา
ภูมิต้านทานกระเป๋าตังค์ก็น้อยลง
ช่วงที่เรียนไพ่ทาโรต์ เห็น อ.หุย เอาไพ่มาหลายสำรับ ให้ดูเป็นตัวอย่าง ไอ้เราตอนแรกก็เข้าใจว่า ไพ่มันมีแบบเดียวคือ Rider Waite (หลายคนอาจจะเข้าใจเหมือนผม .. ฮา เอ๊ะ หรือมีผมคนเดียว) แต่ที่ไหนได้ เพิ่งมารู้ตอนนี้เอง ว่ามันมีหลายแบบ มากมายก่ายกอง (รูปไพ่ The Sun ก็เป็นไพ่ลำดับที่ 19 ของชุดนี้) บางคนในห้องก็มีอยู่หลายสำรับ อย่าง อ.หุย บอกว่ามีหลายสิบอยู่ ผมคิดในใจ ต้องมีเก็บมากขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วจะใช้ชุดไหนล่ะ มีเยอะขนาดนั้น และก็ไม่ได้คิดว่าจะซื้อเก็บ เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น .. แต่ตอนนี้เกินหลักร้อยแล้วครับ .. ฮา ทำไงได้ความอยากมันบังตา ชุดนั้นก็สวย ชุดนี้ก็น่าสนใจ ทำให้นึกถึงไพ่ Devil เลย

ช่วงนั้นเข้าเวปไปหาข้อมูลเรื่องไพ่บ่อยมาก โดยเฉพาะเวปของ ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ถือว่าเป็นต้นเหตุสำคัญเลย ที่ทำให้ผมสะสมไพ่มากขนาดนั้น ใครที่ยังไม่เคยเข้าไป ขอเตือนนะครับ ระวังจะเสพติดไพ่เหมือนผม .. ฮา

ใครสนใจเรื่องไพ่ทาโรต์ หรือไพ่แบบอื่นๆ สนใจเข้าไปอ่านที่บล็อคของ ดร.เซ่ ได้นะครับ แนะนำเลย มีความรู้ดีๆ มากมาย รวมถึงรีวิวไพ่เด็ดๆ ละเอียดสุดๆ ผมก็ได้รับแรงบันดาลใจจากบล็อคนี้แหละครับ

 และเวปรีวิวไพ่ทาโรต์ Aeclectic Tarot ที่มีรูปตัวอย่างไพ่ทาโรต์มากมายให้ดู ตอนนั้นผมไล่ดูตั้งแต่ A-Z เลย ชุดไหนชอบก็ตามหาซื้อ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะบางชุดผลิตมานาน ขาดตลาดแล้ว

The Bright Idea Deck

เรามาเข้าเรื่องไพ่ The Bright Idea Deck ดีกว่านะครับ เดี๋ยวจะมีคนเบื่อสักก่อน :)
ผมชอบไพ่ชุดนี้ เมื่ออ่านบทความเรื่อง ความหมายตำแหน่งไพ่ ทำนาย 3 ใบ ตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนต่อจากบทความเรื่อง วางไพ่ทำนาย 3 ใบ ของ ดร.เซ่
ในตอนที่ 2 ด้านล่างจะมีตัวอย่างไพ่ชุดนี้ นำมาเป็นแบบฝึกหัด ให้คนที่เข้ามาอ่านลองทายกันดู และข้อมูลของไพ่ชุดนี้ ลองเข้าไปอ่านกันดูนะครับ อย่างที่ผมบอกตอนต้นแล้ว ว่าบล็อคนี้อันตรายกับกระเป๋าสตางค์

เมื่อชอบก็ตามหา ก็ไปตามลิงค์ภายในบทความ แต่หมดแล้วครับ ที่อเมซอนไม่มีขายแล้ว ทำไงดีล่ะ :( ก็ไปลองหาที่สำนักพิมพ์ที่ผลิตก็ไม่มีเหมือนกัน ตอนนั้นตัดใจไปแล้วครับ .. ที่จริงในเวปอเมซอน จะมีคนมาลงฝากขายไว้ซึ่งไม่ผ่านอเมซอน มีที่แบบใช้งานแล้วและของใหม่ แต่ความเสี่ยงอยู่ที่เราจะกล้าเสี่ยงไหม ของใหม่จริงหรือเปล่า จ่ายเงินไปแล้วจะได้ของไหม บลาๆๆๆ .. แต่สุดท้ายก็เอามาจนได้ครับ ยอมเสี่ยงเพราะห้ามใจไม่ได้ ตอนนั้นได้มา 3 กล่อง สำหรับผมหนึ่งกล่อง อีก 2 กล่อง อ.วิโรจน์ (ผู้สรรสร้างไพ่ จาตุมหาราช ทาโรต์) และน้องแพร ฟอร์จูน ได้ไป ดีใจทั่วหน้า

ไพ่ The Bright Idea Deck ผู้สรรสร้างคือ Mark McElroy ภาพโดย Eric Hotz พิมพ์และจำหน่ายโดย Llewellyn ผลิตเมื่อปี 2005 ก็ปาเข้าไป 8 ปีแหละ ไพ่ชุดนี้มาเป็นเซต ในกล่องประกอบด้วย หนังสือคู่มือชื่อ Creative Brainstorming with The Bright Idea Deck และไพ่หนึ่งชุด ตามรูปด้านล่าง



ไพ่ชุด The Bright Idea Deck ในกล่องประกอบไปด้วย
หนังสือคู่มือ 1 เล่ม และไพ่ 1 ชุด
(คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่)
ไพ่ชุดนี้ Mark McElroy สร้างขึ้นมาเพื่อต้องการ นำไพ่มาช่วยจุดประกายความคิด หาคำตอบ ดูได้จากคำโปรยบนกล่องที่ว่า Breakthrough to Brilliance หรือชื่อหนังสือที่ว่า Creative Brainstorming แม้แต่หลังไพ่ยังเป็นรูปหลอดไฟเลย องค์ประกอบในไพ่แต่ละใบ จะช่วยให้จินตนาการทางด้านความคิดเปิดกว้างขึ้น อย่างในคู่มือได้ยกตัวอย่าง การนำไพ่ไปใช้เป็นไอเดียในการประชุม วางแนวทาง หรือนักเขียนนำไปใช้วางแนวทางในการดำเนินเรื่อง แม้แต่คนทั่วไป ก็สามารถนำไปใช้เพื่อหาความคิดใหม่ ข้อดี ข้อเสีย ของปัญหา ในสถานการณ์ต่างๆ

 

ไพ่ The Bright Idea Deck

เริ่มต้นที่สำรับไพ่ชุดนี้เลยดีกว่านะครับ โครงสร้างหลักๆ จะเหมือนกับชุด Rider Waite มาตรฐาน แบ่งเป็นชุดหลัก (Trump cards) 22 ใบ และชุดรอง (Suit cards) 4 ชุดๆละ 14 ใบ รวม 56 ใบ


ไพ่แต่ละชุด แต่ละสี
(คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่)
ไพ่ชุดหลัก จะมีขอบสีม่วง ซึ่งจะให้น้ำหนักในการทำนายมากกว่าชุดรอง ความหมายจะไปในเรื่องของวิธีการ แรงขับเคลื่อน และอิทธิพลต่างๆ ที่ควรในความใส่ใจเป็นพิเศษ

ไพ่ชุดรอง จะประกอบไปด้วยไพ่ 4 ชุด แบ่งตามสีของธาตุ ดังนี้
  • ไพ่ขอบสีแดง หรือเทียบกับไพ่ชุดไม้ ของ Rider Waite เน้นในสิ่งที่คุณต้องการ และสิ่งที่ควรทำ หรือไม่ควรทำ
  • ไพ่ขอบสีน้ำเงิน หรือเทียบกับไพ่ชุดถ้วย เน้นเรื่องสิ่งที่คุณรู้สึก และสาเหตุที่คุณรู้สึก
  • ไพ่ขอบสีเหลือง หรือเทียบกับไพ่ชุดดาบ เน้นเรื่องสิ่งที่คุณคิด และสาเหตุที่คุณคิด
  • ไพ่ขอบสีเขียว เทียบได้กับไพ่ชุดเหรียญ เน้นทุกสิ่งที่คุณเห็น รู้สึก ได้ยิน สัมผัส หรือได้กลิ่น รอบๆตัวคุณ
 ด้านล่างของไพ่แต่ละใบจะมีคีย์เวิร์ดกำกับไว้ เราสามารถอาศัยคีย์เวิร์ดนี้ช่วยในการทำนาย (ระดมความคิด หาคำตอบ แนะแนวทาง) หรืออาศัยรูปคน สิ่งของ สถานการณ์ อารมณ์ ภายในภาพก็ได้เช่นกัน

 ถึงแม้ว่าผมจะใส่หัวข้อเป็นเรื่องการเรียน การงาน สำหรับไพ่ชุดนี้ ซึ่งส่วนตัวแล้วไพ่ชุดนี้ให้ความรู้สึกไปในแนวทางนี้ อาจจะเป็นเพราะไม่เคยเห็นไพ่ทาโร่ต์ชุดไหน ที่ชี้ชัดไปในเรื่องการงานโดยเฉพาะ รูปภาพของไพ่ ที่แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และการงาน (การเรียน สำหรับคนที่อยู่ในวัยเรียน) ก็เป็นกิจกรรมที่กินเวลาส่วนใหญ่ของเรา ซึ่งต้องอาศัยความคิด และแก้ปัญหาตลอดเวลา .. ถึงกระนั้น เราก็สามารถนำไพ่ชุดนี้ ไปทำนายในด้านอื่นๆ ได้เหมือนไพ่ทาโรต์ชุดอื่น ไม่แปลก หรือผิดแต่อย่างใด

เรื่องไพ่ไว้ไปพูดถึงในช่วงตัวอย่างการทำนายอีกที ขอกล่าวถึงคู่มือสักเล็กน้อย


คู่มือไพ่ The Bright Idea Deck
(คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่)

คู่มือไพ่ The Bright Idea Deck

คู่มือที่มาพร้อมกับไพ่ ถ้าใครได้ลองอ่าน ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากนาย Mark McElroy เป็นผู้ออกแบบการฝึกสอน ให้กับบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษท เช่น MCI, Office Depot และเป็นนักเขียน ด้วยเช่นกัน หลายคนอาจจะเคยได้อ่านหนังสือของเขามาแล้ว เช่น Putting the Tarot to Work, Taking the Tarot to Heart ถ้าใครมีไพ่ทาโร่ต์ชุด Lo Scarabeo (ชื่อเดียวกับสำนักพิมพ์ไพ่ชื่อดัง Lo Scarabeo)
ลองไปหยิบมาดูเลยครับ
.. หยิบมาหรือยังครับ
.. หยิบสิ
จะเห็นว่ามีชื่อของนาย Mark McElroy อยู่ด้วย ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหม และจากอาชีพของเขา ก็ไม่น่าเป็นที่แปลกใจเลย ที่เขาจะสรรสร้างไพ่ชุดนี้ขึ้นมา ในรูปแบบเฉพาะตัว




กลับมาที่หนังสือต่อ สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอ่านคือ หัวข้อ Exploration ซึ่งเป็นการตั้งคำถาม กับสิ่งที่อยู่ในไพ่ ทำไมจึงมีสิ่งนั้น มันแสดงถึงอะไร ให้ความรู้สึกอย่างไร เป็นการตั้งคำถามให้คิด เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งนั้นๆ ตามความรู้สึกของเรา


ตัวอย่างเนื้อหาภายในหนังสือ
(คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่)
อย่างเช่น ไพ่หมายเลข 0 - Freedom (เทียบเท่ากับไพ่ The Fool ของ Rider Waite สามารถดูรูปไพ่ใบนี้ในหัวข้อ ตัวอย่างการทำนาย) ซึ่งมีการตั้งคำถามถึง สายรุ้ง ที่อยู่ในภาพว่าแสดงถึงอะไร คนที่กำลังกระโดดข้ามสายรุ้ง แสดงถึงอารมณ์หรือกิจกรรมอะไรได้บ้าง

 สิ่งที่ผมคิดว่าหนังสือน่าจะใส่ไปด้วยคือ รูปไพ่ ไม่งั้นมาคอยหยิบไพ่ดูประกอบตลอดเวลา เมื่อยน้าา


ตัวอย่างการทำนาย

คราวนี้มาลองใช้ไพ่ The Bright Idea Deck มาทำนายกันบ้างดีกว่า ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจากสับไพ่และคลี่ไพ่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว


คลี่ไพ่เตรียมพร้อม
(คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่)

ไพ่ชุดนี้กระดาษบางและลื่นพอควร เวลาสับต้องคอยระวังเหมือนกัน ไพ่แอ่นเล็กน้อย เกิดจากกระดาษที่บาง แต่ก็ช่วยให้คลี่ไพ่ได้ง่าย

ที่ผมลองทำนายคือ การสัมภาษณ์ไพ่ ในรูปแบบของ ดร.เซ่ ใครสนใจลองเข้าไปอ่านดูนะครับ เราจะได้ทำความรู้จักกับไพ่ที่เราใช้ให้มากขึ้น รูปแบบนี้จะใช้ไพ่ทั้งหมด 6 ใบ มีความหมายแต่ละตำแหน่งดังนี้

รูปแบบการวางสัมภาษณ์ไพ่
(คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่)
  1. บุคคลิกลักษณะของไพ่
  2. จุดแข็งของไพ่
  3. ข้อจำกัดของไพ่
  4. คำแนะนำจากไพ่
  5. เราจะเรียนรู้ไพ่ได้อย่างไร
  6. ผลสรุป
สำหรับมือใหม่หัดทายอย่างผม ก็ไม่อยากปล่อยไก่ท่ามกลางสาธาณะชนหรอกครับ .. ฮา แต่ไพ่ทาโรต์ ถ้าไม่ฝึกบ่อยๆ ก็คงจะชำนาญยาก ก็รวมถึงสายวิชาอื่นๆ เหมือนกัน ที่ต้องการการฝึกฝน ลองดูครับ

แจ้งก่อนว่า การสัมภาษณ์ไพ่ แต่ละคนก็จะได้ไพ่ไม่เหมือนกันแน่นอน เพราะมันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับไพ่ของคุณ ถึงแม้ว่าไพ่จะแบบเดียวกันก็ตาม และนี่ก็เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ของผมกับไพ่ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าคุณไปเปิดแล้วต่างจากผม เพราะผมก็ต่างจากคุณ .. ฮา

เริ่มจริงๆ แหละ .. สำหรับใบแรกบุคคลิกลักษณะของไพ่ ได้ไพ่ Freedom (เทียบได้กับไพ่ The Fool) ดูท่าทางจะไม่ค่อยสนใจกฎเกณฑ์สักเท่าไหร่นะครับ ผมก้อไม่ชอบผูกไท เหมือนกัน อึดอัด (ถึงจะดูดีก็เถอะ) ไม่รู้ว่าลักษณะของไพ่ หรือเจ้าของไพ่กันแน่ .. ฮา เอาว่าไม่ยึดติดในกรอบดีกว่า สามารถใช้จินตการได้ สายรุ้งสำหรับผมก็คงจะเป็นความหวัง มือซ้ายถือคธาหัวตัวตลก มือขวาถือนาฬิกาทราย ที่ทรายหล่นมาหมดแล้ว สำหรับควาย หนังสือ ไข่ ผมก็ไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ใครทราบก็บอกด้วยนะครับ

ใบที่ 2 จุดแข็ง ไพ่ Satisfaction คนนั่งเก้าอี้แบบสบายๆ ห้อมล้อมด้วยดอกไม้ เหมือนมาพักผ่อน พักร้อนเลย คงจะบอกว่าให้ใช้ได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเกร็ง ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ฮา .. อ้อ ถ้าเปรียบกับไพ่ Rider Waite ก็คือไพ่ 9 ถ้วย ซึ่งก็เป็นความพึงพอใจเหมือนกัน

ใบที่ 3 ข้อจำกัด ไพ่ Cooperation หัวข้อนี่เป็นอะไรที่ผมตีความหมายไม่ค่อยจะได้นัก แต่ลองดูครับ จากภาพเห็นเป็นคน 2 กลุ่ม กลุ่มที่อยู่ใกล้ช่วยกันสร้างปราสาท (ถึงจะเป็นทรายก็เถอะ) ส่วนกลุ่มที่ 2 ไกลๆ มีอยู่คนเดียว สำหรับผมเห็นเป็นการเปรียบเทียบการทำงานเป็นทีม สามารถสร้างผลงานได้ดีกว่า ลุยเดียวคนเดียว ถ้าให้แปลในความหมายข้อจำกัด คงเป็นการบอกกลายๆ ว่า ให้ร่วมมือกับฉันสิ (หมายถึงไพ่) แล้วเรามาสร้างปราสาทด้วยกัน ดีกว่าไปนั่งทำคนเดียวนะ หัวเดียวกระเทียมลีบ .. ฮา เทียบกับ Rider Waite ไพ่ 6 เหรียญ แล้ว สำหรับผมความหมายอาจจะต่างกันไป

กำลังมันต่อ ใบที่ 4 กันเลย คำแนะนำจากไพ่ ที่อยากจะบอก .. ยิ่งอ่านเหมือนไพ่จะว่าผมเลย .. ไพ่ Exhaustion ในภาพจะเห็นผู้ชายโดนมัดติดกับเก้าอี้ แถมล็อคกุญแจอีกต่างหาก ให้ทำงานที่กองอยู่บนโต๊ะให้เสร็จ ไม่ว่าจะโดนคนอื่นบังคับให้ทำ หรือว่าเราบังคับตัวเอง แต่รู้สึกเหนื่อยจังเลย อยากพักบ้าง ไรบ้าง .. ฮา ไพ่บอกให้วาง อย่าไปยึดกับหนังสือ หรืองานเครียดๆนัก หยิบกุญแจขึ้นมาสิ (อาจจะมองไม่เห็นงานมันบ้งหมด) ปลดปล่อยตัวเอง ให้เป็นอิสระ เหมือนกับไพ่ใบล่าง :) เทียบกับ Rider Waite ก็เป็นไพ่ 10 ไม้ งานหนักแบกหลังโก่ง เฮ้ออ

ต่อๆ ใบที่ 5 ผมจะเรียนรู้ไพ่ได้อย่างไร ไพ่ Examination ก็จะไม่ให้บอกได้อย่างไร ว่าไพ่กำลังหยิกผมเล็กๆ .. เจ็บนิดๆ อ่ะ เจ็บนิดๆ .. ฮา  ใบนี้เป็นไพ่ใบหลัก เหมือนกับ Freedom ในภาพหมอกำลังตรวจฟันอยู่ (ใครอยากบอกว่าขูดหินปูนก็ไม่ว่ากัน) ฟันล่างจะมีสีแตกต่างอยู่ซี่นึง จะว่าฟันผุ หรือกำลังจะผุ ก็ได้ ไพ่กำลังบอกผมว่า ให้ไปตรวจฟัน (หรือฝึกดูให้คนอื่นบ้าง) อย่างนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่า ซี่ไหนผุ (สามารถทำนายได้ถึงไหนแล้ว) ถ้าพูดถึงไพ่ Rider Waite ก็คือ ไพ่ Judgement แต่สำหรับไพ่ระบบ Thorth แล้วไพ่ใบที่ 22 มีความหมายถึง ฟัน ด้วย ตรงไปเปล่าเนี่ย .. ฮา

 ใบสุดท้ายแล้วครับ ใบที่ 6 ผลสรุปความสัมพันธ์ระหว่างผมกับไพ่ ได้ไพ่ Learning - Impression สำหรับไพ่ที่ขึ้นต้นด้วย Learning เปรียบเสมือนไพ่ Page เป็นช่วงการเรียนรู้ ยังไงยังงั้น ความสัมพันธ์ไปในทำนองเรียนรู้ศึกษากันไป ถูกบ้างผิดบ้าง เป็นเรื่องปกติ เพราะคนเราชอบไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะชอบที่เราทำนาย แต่อีกคนอาจจะไม่ชอบ เราก็มือใหม่หัดอ่านนิ สำหรับ Rider Waite ก็เป็น ไพ่ Page of Cup

ขอเวลาทำใจแป๊บนึงครับ โดนไพ่ตำหนิ :( .................

มาต่อตัวอย่างสุดท้ายกันนะครับ ผมได้ลองเปิดไพ่ 3 ใบ ทำนายงานช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ใช้การวางไพ่ง่ายๆ ครับ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งก็คือช่วงเดือนนี้


ถามเรื่องงาน อดีต ปัจจุบัน อนาคต
(คลิ๊กเพื่อดูรูปใหญ่)

ดูกันให้ชัดๆ เลยครับ ว่าเป็นยังไงบ้าง จะรอดไหม .. ฮา ผมคงจะไม่เทียบกับไพ่ชุด Rider Waite แล้วนะครับ เพราะบางท่านที่อ่านไพ่จากหน้าไพ่ จะสับสนเอาได้ ผมดูไพ่สุดท้าย Learning - Validation ก่อนเลย ท่าทางจะรอดนะเรา .. ฮา เชฟ ยกนิ้วให้นี่ เราสอบผ่านชัวร์ หลังจากพยายามมาหลายครั้ง .. ใช่ครับ ต้องอาศัยความพยายาม ไพ่ใบกลาง Motivation หรือสถานการณ์ปัจจุบัน ผมต้องการแรงขับดัน เพื่อให้ได้ถ้วย อาจจะต้องกระตุ้นตัวเองด้วยซ้ำไป จากแส้ที่เห็น คงไม่มีใครมาตีผมหรอก แต่อาจเป็นความเจ็บปวดที่จะได้รับ ถ้าทำงานไม่เสร็จ กลับมาที่ไพ่ใบแรก Shadow ไพ่ใบนี้ตีได้หลายความแล้วแต่จะมอง สำหรับแว่บแรก คือ ลังเล ไม่รู้ว่าจะใช้หน้าไหน แปลเรื่องงานก็สับสน ว่าจะทำอะไรดี อันไหนก่อน อันไหนหลัง ทำให้พาลล่าช้ากันไปหมด ถึงส่งผลมาถึงปัจจุบันที่ต้องลงแส้กันหน่อยล่ะ .. ฮา

ใครแปลความหมายอย่างไร ก็บอกกันมั้งนะครับ

ไม่น่าเชื่อว่าจะเขียนมาได้ยาวขนาดนี้ สำหรับบทความแรก ใช้เวลาทั้งวันเหมือนกัน ไม่เคยทำอะไรได้นานขนาดนี้เลย แม้แต่งาน .. ฮา ไว้ถ้ามีเรื่องอะไรหน้าสนใจ เกี่ยวกับไพ่ The Bright Idea Deck จะมาลงเพิ่มเติมภายหลังนะครับ

ขอขอบคุณที่ทนอ่านจนจบนะครับ แล้วเจอกันใหม่บทความต่อไป .. ราตรีสวัสดิ์ครับ

ตะกร้าหวาย
2/7/2556 22:54

4 ความคิดเห็น:

  1. แวะเข้ามาอ่านครับ ขอบคุณที่กล่าวถึงบล็อก ดร.เซ่ ไพ่พยากรณ์ ด้วยนะครับ :)

    ด้วยเหตุที่ว่า ไพ่ Bright Idea จะมีกลิ่นอายของระบบธ็อธ มากกว่าไรเดอร์ฯ ความหมายบางด้านของไพ่ชุดนี้ เช่น ไข่ วัว ซี่ฟัน ฯลฯ จึงมาจากจุดนี้ด้วย Aelp = Ox (วัว)


    ส่วนสัมภาษณ์ไพ่ แปลเป็นใบๆ แล้ว อย่าลืมอ่านโยงระหว่างไพ่แต่ละใบด้วยนะครับ ;) ขออนุญาตยกตัวอย่างเช่น ภาพหนังสือในใบ The Fool ข้างล่างยังว่างเปล่า พอใบด้านบนตำแหน่งที่ 4 ตัวหนังสือเต็มพรืด เป็นต้น :)

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยม และแนะนำนะครับ

    ยอมรับครับว่า ยังอ่านภาพรวม หรือการโยงความสัมพันธ์ระหว่างไพ่ ยังไม่ค่อยได้ ยิ่งการวางแบบเซลติกครอสนี่ ได้แต่อ่านแต่ละตำแหน่ง คงต้องขอคำแนะนำเรื่อยๆ ครับผม ^^

    จากที่แนะนำมา ทำให้ได้คิดว่า หนังสือที่ว่างเปล่า และไข่ ในไพ่ Freedom หมายถึงการเริ่มต้นใหม่ ยังไม่มีเรื่องราวอะไรเขียนลงไป รอที่จะผจญภัยหาประสบการณ์ และการกำเนิดฟักออกมาจากไข่ สำหรับชีวิตใหม่ .. แต่ผมก็ยังไม่เข้าใจ วัว อยู่ดี มันมาเดินทำไม จะว่าเป็นราศีพฤษก ก็ไม่น่าจะใช้ เพราะไพ่ใบอื่นๆ จะใช้สัญลักษณ์แทนราศี

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ระบุข้างบนไว้แล้วครับว่า "วัว" มาจากไหน .. เหตุผลเดียวกันกับ "ฟัน" มาจากไหน ใน Examination :)

      ลบ